hehe
ลีลาวดี

ลีลาวดี

ลีลาวดี Temple tree , Pagoda tree , Frangipani

ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeria acuminata Art. Sym.:P. actifolia Poir. , P. rubra Linn.var.Actifolia Bailey.
วงศ์ APOCYNACEAE
ชื่ออื่นๆ กะเหรี่ยง กาญจนบุรี : จงป่า ภาคเหนือ : จำปาลาว อีสาน : จำปาขาว เขมร : จำไป ภาคใต้ : จำปาขอม
ยะลา : ไม้จีน มลายู-นราธิวาส : มอยอ
ถิ่นกำเนิด : : เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ อินเดีย

ลักษณะทั่วไป: เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขาออกไป มีกิ่งก้านที่เปราะและอุ้มน้ำลำต้นสูงประมาณ 4-6 เมตร และมีน้ำยางสีขาว ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันไปแบบขั้นบันได แต่ใบจะไปดกที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับตรงปลายมน โคนใบสอบแคบ ขอบใบเรียบ ด้านบนมีผิวมันสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีขนสั้นๆ ประปราย และมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ขนาดของใบกว้างประมาณ2-3.5 นิ้ว ก้านใบยาว 2-2.5 นิ้ว ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้น ดอกเป็นรูปกรวย ภายในหลอดดอก จะ

มีขนประปราย ผลเป็นฝักยาวเรียบ มีผิวเกลี้ยงยาวประมาณ 6-11 นิ้ว ภายในมีเมล็ดเป็นรูปแบนๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

ประโยชน์:

  • น้ำยางใช้ใส่แผล ทาแก้โรคงูสวัด หิด เมล็ดเป็นยาระบาย ขับน้ำเหลือง แผลจากฟิลิส
  • ดอกตากแห้ง 5 -12 กรัม ต้มน้ำกินต่างชาได้ มีรสชุ่ม แก้ไอ บำรุงปอด รักษาอาการร้อนใน ท้องผูกและแก้บิด
  • เปลือกต้นแห้ง บดเป็นผง ประมาณ 60 กรัม ชงกับน้ำร้อน 4 ลิตร ดื่มครั้งละ 250 มิลลิลิตร ร่วมกับน้ำมะขามเปียก วันละ 4 - 5 ครั้งติดต่อกัน จะช่วยขับปัสสาวะและถ่ายดีขึ้น
  • เปลือกราก ใช้รักษาโรคหนองในและกามโรค ในใบและต้นมี Fulvoplumierin สารนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้องอกเป็นก้อน
  • เมล็ด ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ภายใน)

ลีลาวดี ถ้าแปลตามความหมายตามอักษรแล้ว ก็คือต้นดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อย ไม้นี้เดิมเรียก ลั่นทม เป็นไม้ยืนต้นในเขตร้อน ที่เห็นทั่วๆไปมีดอกสีขาว แดง ชมพู ชื่อเดิมของพันธ์ไม้นี้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคำนี้มาจากคำว่า ระทม ซึ่งหมายถึงความเศร้าโศก จึงไม่เป็นที่โปรดปรานปลูกในบริเวณบ้านหรือที่อยู่อาศัย

แต่แท้ที่จริงแล้วมีผู้มีความรู้ด้านภาษาไทยกล่าวถึงคำว่า ลั่นทม หมายถึง การละแล้วซึ่งความโศกเศร้าแล้วมีความสุข ดังนั้นคำว่า ลั่นทมแท้ที่จริงนั้นเป็นคำผสมจาก ลั่น+ทม โดยคำแรกหมายถึง แตกหัก ละทิ้ง และคำหลังหมายถึงความทุกข์โศก ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนชื่อมาเป็นลีลาวดีเนื่องจากความเข้าใจในภาษาคลาดเคลื่อน แต่ชื่อใหม่นั้นก็ความไพเราะสมกับท่วงท่าของลำต้น

มีตำนานเล่าขานถึงที่มาของลีลาวดีในลักษณะต่างๆ กันอย่างไรก็ตามพันธ์ไม้นี้ตามหลักสากล ได้ถูกเรียกชื่อว่า ฟรังกีปานี (frangipani) และเรียกกันทั่วๆ ไปว่า พลูมมีเรีย (plumeria)

ลั่นทมขาว (ลีลาวดีขาวพวง)

ชื่อสามัญ : Singapore Plumeria, Frangipani, Plumeria, Pagoda Tree, Templetree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeria obtusa L
ถิ่นกำเนิด : เม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

ลักษณะทั่วไป :ไม้พุ่มขนาดกลาง พุ่มกลมเมื่ออยู่กลางแจ้ง ออกดอกตลอดปี ดอกหอมหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
การขยายพันธุ์

  • การปักชำ
  • การตอน นิยมใช้กับกิ่งขนาดกลาง - ใหญ่
  • การเพาะเมล็ด สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลานานในการปลูก แต่ก็มีข้อดีที่ระบบรากแข็งแรงและอาจได้ต้นที่กลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะต้นที่ปลูกใกล้ๆ กับต้นที่มีลักษณะของดอก หรือต่างสายพันธุ์กัน

ข้อดีของพันธุ์ไม้

  • ใบสวยที่สุดในตระกูลลั่นทม
  • ทรงพุ่มโดยธรรมชาติสวยงาม
  • ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย แห้งแล้ง และดินเค็ม
  • เป็นพันธุ์ไม้หอมที่เหมาะสำหรับการบุกเบิกพื้นที่
  • ช่วงการปลูกกว้างมาก หากสังเกต เราสามารถพบลั่นทมชนิดนี้ขึ้นได้ตั้งแต่ชายทะเลถึงบนเขา

ข้อแนะนำ :

  • โดยธรรมชาติชอบพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
  • ในกรณีที่ปลูกต้นใหญ่ต้องมีการค้ำยันที่ดีและแข็งแรงประมาณ 1 ปี เพราะเป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีน้ำหนักต้นมากและระบบรากไม่ค่อยแข็งแรง
  • การควบคุมขนาดของต้นให้มีขนาดที่เหมาะสม มีความจำเป็นสำหรับพันธุ์ไม้ชนิดนี้
  • ในช่วงฤดูร้อนอากาศแห้ง ไม่ควรให้น้ำ รอจนกระทั่งใบร่วงหมดทั้งต้น

ลั่นทมแดง

ชื่อสามัญ : West Indian red Jasmin, Nosegay Frangipani
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plumeria rubra Linn.
ถิ่นกำเนิด : เม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

ลักษณะทั่วไป : ไม้พุ่มขนาดกลาง ใบบาง ทรงพุ่มกลมเมื่ออยู่กลางแจ้ง ออกดอกตลอดปี ดอกหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
การขยายพันธุ์ :

  • การปักชำ
  • การตอน นิยมใช้กับกิ่งขนาดกลาง - ใหญ่ แต่ยากกว่าสายพันธุ์ขาวพวง
  • การเพาะเมล็ด สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลานานในการปลูก แต่ก็มีข้อดีที่ระบบรากแข็งแรงและอาจได้ต้นที่กลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะต้นที่ปลูกใกล้ๆ กับต้นที่มีลักษณะของดอกหรือต่างสายพันธุ์กัน

ข้อดีของพันธุ์ไม้ :

  • มีการเปลี่ยนเป็นสีชมพูได้หากเป็นช่วงฤดูแล้ง หรือขาดน้ำ
  • ทรงพุ่มโดยธรรมชาติสวยงาม
  • ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย แห้งแล้ง และดินเค็ม
  • เป็นพันธุ์ไม้หอมที่เหมาะสำหรับการบุกเบิกพื้นที่
  • ช่วงการปลูกกว้างมาก หากสังเกต เราสามารถพบลั่นทมชนิดนี้ขึ้นได้ตั้งแต่ชายทะเลถึงบนเขา

ข้อมูลอื่นๆ : ชื่อของลีลาวดีในขณะนี้ยังไม่แน่นอน ตั้งกันตามชอบใจ จึงมีชื้อขายในท้องตลาดมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลีลาวดีจากการผสมพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์

 

ลั่นทมลูกผสม (ส้มกาฬสินธุ์)

ชื่อสามัญ : Singapore Plumeria, Frangipani, Plumeria, Pagoda Tree, Templetree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plumeria sp.
ลักษณะทั่วไป :ไม้พุ่มขนาดกลาง ออกดอกตลอดปี ดอกหอมหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

ของฝากสำหรับผู้เริ่มต้นเลี้ยง

1. การเลือกกิ่งลีลาวดี กิ่งที่เลือกไม่ควรเป็นกิ่งอ่อน สังเกตจากสีผิวของเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลนวลๆ แล้ว หากยังงงๆ อยู่ว่าสีน้ำตาลนวลๆ เป็นอย่างไร มีวิธีที่ง่ายกว่านี้อีกก็คือ ถ้าเป็นกิ่งที่มาจากต้นสภาพธรรมชาติ วัดความยาวจากปลายกิ่งที่แตกใบอ่อนมาประมาณ 50 - 75 ซม. หากเป็นกิ่งที่ผ่านการเลี้ยงดูมาอย่างดีควรยาวประมาณ 1เมตร ที่เหลืออย่าทิ้งเก็บทำให้หมด ความยาว - สั้น ของกิ่งพันธุ์ไม่เป็นอุปสรรคในการขยายพันธุ์

2. รูปทรงกิ่งที่เลือก อย่าไปเชื่อใครว่าต้องอย่างนั้น อย่างนี้ถึงจะสวย นานาจิตตัง ชอบแบบไหนเลือกแบบนั้น

3. การเตรียมกิ่งก่อนขยายพันธุ์ มีหลักการง่ายๆ ดังนี้

  • เครื่องมือที่ใช้ตัดต้องคม ควรเริ่มตัดกิ่งลีลาวดีในช่วงเช้า
  • อย่าให้กิ่งช้ำ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอยแผลที่ตัดหรือการกระแทกกับพื้นดิน
  • ตัดใบทิ้งให้เหลือแต่ยอด 1 - 2 ใบ ผึ่งลมให้ยางแห้งในที่ร่มแล้วเอาไว้ปลูกตอนเย็น
  • ฮอร์โมนจำเป็นหรือไม่ในการขยายพันธุ์ มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่จำเป็น

4. การเลือกภาชนะที่ใช้ในการขยายพันธุ์ ใช้ภาชนะอะไรก็ได้ที่ลักษณะคล้ายกระถางและหาได้ง่ายๆ เช่น ขวดน้ำที่มีปริมาตรอย่างน้อย 2 ลิตร นำมาเจาะรูระบายน้ำ 3 - 5 รูๆ ขนาด 1 ซม. ที่ด้านล่างก็ใช้ได้แล้ว ขนาดของภาชนะหรือกระถางมีเทคนิคง่ายๆ ในการเลือกคือ เมื่อใส่ดินแล้วปักกิ่งลงไปไม่ล้มและแน่นก็พอแล้ว หากกิ่งพันธุ์ที่ใช้ใหญ่มาก ไม่สมดุลกับกระถาง วิธีแก้ให้หาไม้มาปักและผูกให้แน่น

5. วัสดุหรือดินที่ใช้ในการขยายพันธุ์ มีหลายอย่างให้เลือก เช่น ขี้เถ้าแกลบเก่าข้ามปี ดินผสมที่ขายเป็นถุง ดินโคนต้นไม้ ทรายผสมขึ้เถ้าแกลบ ฯลฯ หลักการง่ายๆ คือ หาง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย ใช้ได้ดี ดินที่มีหากปลูกต้นไม้อย่างอื่นขึ้นรับรองว่าใช้ได้แน่นอน

6. เทคนิคการขยายพันธุ์

  • กิ่งที่ปักไม่ควรติดก้นกระถาง ห่าง 3 - 5 ซม. เป็นอย่างน้อย
  • ปักให้แน่น รดน้ำให้แฉะในครั้งแรก
  • ห้ามเคลื่อนย้ายภาชนะปลูกโดยไม่จำเป็น
  • ตั้งไว้ในที่ร่มรำไรจนกว่าจะแตกใบใหม่ 2 - 4 ใบ
  • ห้ามใส่ปุ๋ยเคมีในเดือนแรกเด็ดขาด

    7. ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ความชื้นในอากาศสูง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา สาเหตุโรคพืชหลายชนิด หากลีลาวดีไม่ว่าพันธุ์ใดๆ ก็ตามสามารถพบเป็นโรคราสนิม หากอยู่ในสภาพแวดล้อมดังต่อไปนี้

    1. อยู่ในที่มีความชื้นในอากาศสูงเป็นระยะเวลายาวนาน หรือท่านรดน้ำบ่อยครั้งเกินไป
    2. ลีลาวดีได้รับแสงแดดไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้นลีลาวดีไม่แข็งแรง และอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรคพืช
    3. มีใบปกคลุมจำนวนมากเกินไป และได้รับปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงทำให้ต้นอวบน้ำมากกว่าปกติ
    4. มีต้นไม้อื่นๆ ที่มีเชื้อสาเหตุโรคพืชอยู่ใกล้ๆ กับลีลาวดี

ลักษณะอาการของโรคราสนิมที่พอจะสังเกตได้ในเบื้องต้นจากอาการภายนอก

หากพบอาการดังกล่าวควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. เก็บใบที่แสดงอาการโรคออกจากต้นให้หมด ในการเก็บใบออกควรจับที่ก้านใบบริเวณใกล้ๆ ลำต้น และค่อยๆ บิดด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคราสนิมสามารถฟุ้งกระจายได้ง่ายในอากาศ หากใบที่เป็นโรคมีจำนวนไม่มากเกินไป ควรเก็บใส่ถุงและปิดปากให้แน่นก่อนการเผาทำลาย

2. ในกรณีที่เป็นต้นขนาดใหญ่และมีใบที่เป็นโรคจำนวนมาก จนไม่สามารถเด็ดใบทิ้งได้ทั้งหมด ควรเก็บกวาดใบที่เป็นโรคบริเวณโคนต้นและใบส่วนที่เก็บถึงให้มากที่สุด และเผาทำลาย

3. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

4. งดการให้น้ำระยะหนึ่งเพื่อลดความชื้นบริเวณรอบๆ ต้น

5. ในกรณีที่ยังปลูกเป็นไม้กระถาง ควรเคลื่อนย้ายมาอยู่ในที่แห้ง แดดจัด ลมพัดผ่านได้ง่าย งดน้ำชั่วคราว

6. ในกรณีที่ปฏิบัติตามตั้งแต่ข้อ 1 - 4 แล้วยังพบการระบาดของโรค จึงควรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ เช่น ซาพรอล อมิตตา อัตราส่วนตามที่ระบุในฉลากยา 2 - 3 ครั้ง ห่างกัน 2 - 5 วัน/ครั้ง แล้วแต่ความรุนแรงของการระบาด

หมายเหต ุลีลาวดีในสภาพธรรมชาติเป็นพรรณไม้ที่ปลูกได้ดีในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง มีการร่วงของใบในฤดูร้อนอยู่แล้ว การขยายพันธุ์ลีลาวดีโดยการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเจริญเติบโตตลอดเวลา เป็นผลให้ลีลาวดีอ่อนแอในที่สุด

ลีลาวดี...ไม่ใช่ชื่อพระราชทาน

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเรียกชื่อ "ลั่นทม" ใหม่ว่า "ลีลาวดี" ซึ่งชื่อใหม่นี้มีความเป็นมาอย่างไรและเพื่อผลประโยชน์อันใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลแอบอ้างโดยอ้างว่าชื่อใหม่ของ "ลั่นทม" หรือ "ลีลาวดี" นั้น เป็นชื่อที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้เพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องจากไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้มงคล แต่กลับเรียกว่า "ลั่นทม" การแอบอ้างชื่อใหม่ของต้น "ลั่นทม" ในลักษณะเช่นนี้ สร้างความสับสนใหักับสังคมเป็นอย่างมาก เพราะคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจคลาดเคลื่อนและเชื่อว่าเป็นชื่อพระราชทานจริง แม้แต่สื่อมวลชนบางคนยังเชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน การที่แอบอ้างว่าชื่อ "ลีลาวดี" เป็นชื่อพระราชทานนี้เอง ทำให้ธุรกิจการเพาะพันธุ์ต้น "ลีลาวดี" คึกคักเป็นอย่างมาก เพราะ "ลีลาวดี" เป็นต้นไม้ที่มีความสวยงาม สามารถมาดัดแปลงให้เป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ที่มีดอกหลากหลายสีได้ บางต้นมีดอกถึง 3 สีในต้นเดียวกัน จึงทำให้ทุกวันนี้ คนไทยหันมานิยมปลูกเลี้ยงต้น "ลีลาวดี" บริเวณบ้านกันมากขึ้น ทั้งที่ในอดีตมีความเชื่อว่า ต้น "ลั่นทม" ปลูกในบ้านจะทำให้คนในบ้านมีแต่ความทุกข์ระทม เพื่อให้เป็น ที่เข้าใจอย่างทั่วถึงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีการชี้แจงว่า "ลีลาวดี" ไม่ใช่ชื่อพระราชทานแต่อย่างใด โดยกองบำรุงรักษาอุทยาน สวนจิตรลดา ได้ยืนยันว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่ได้พระราชทานนาม "ลีลาวดี" และทรงทักท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วในหลายโอกาส ฉะนั้นต่อไปนี้ ได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า ชื่อใหม่ของ "ลั่นทม" ที่เปลี่ยนมาเป็น "ลีลาวดี" นั้นมีคนอื่นตั้งชื่อกันเอง ไม่ใช่ชื่อพระราชทานตามที่เข้าใจกันแต่อย่างใด.

ข้อมูล www.panmai.com . http://clgc.rdi.ku.ac.th/resource/fragrant/variety.html