อายุกับนิสัยของน้องหมา
สุนัขก็เหมือนกับคนที่อาจมีทั้งที่นิสัยดี และไม่ดี สุนัขบางพันธุ์อาจมีนิสัยก้าวร้าว ชอบแสดงพฤติกรรมนักรบ แย่งชิงความเป็นจ่าฝูง ก่อให้เกิดความปวดหัวแก่เจ้าของเป็นเนืองนิตย์ เจ้าของจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมสุนัขตั้งแต่ยังเล็กว่า มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวเมื่อโตขึ้นหรือไม่ เช่น เมื่อนำสุนัขตัวใหม่มาเลี้ยง มันขู่คำราม ไม่เป็นมิตรหรือไม่ หรือเมื่อเจอคนแปลกหน้า มันขู่คำรามหรือไม่ หรือเมื่อออกไปนอกบ้าน มันไปเที่ยวข่มขู่สุนัขที่ตัวเล็กกว่าหรือไม่
ถ้าคำตอบคือ ใช่ แสดงว่า สุนัขของคุณมี แนวโน้มที่จะก้าวร้าวในอนาคต การฝึกให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ควบคุมสุนัขได้ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในภายหลัง ซึ่งการแก้ไขปัญหา ขณะสุนัขโตแล้ว ทำได้ยากมาก
ทั้งนี้ ลูกสุนัขอายุ 28-35 วัน จะเริ่มแสดงพฤติกรรมทางสังคม คือ ลูกสุนัขจะเริ่มเล่น หยอกล้อกัน สุนัขที่ตัวโตกว่า จะแสดงการข่มขู่สุนัขตัวเล็ก แสดงความเป็นจ่าฝูงออกมา ระยะนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของพฤติกรรมสุนัข เพราะสุนัขจะมีพฤติกรรมในอนาคตเช่นไร จะขึ้นกับการเรียนรู้ และจดจำในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เช่น ลูกสุนัขที่ถูกแกล้งให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นหมาขี้ระแวง หรือถึงขั้นเป็นหมาโรคประสาทได้ หากตกใจมากๆ หรือลูกสุนัขที่ตกใจเพราะเสียงดัง โตขึ้นอาจกลัวเสียงฟ้าร้อง หรือประทัด เป็นต้น
ส่วนลูกสุนัขที่ถูกกักขัง หรือกีดกันไม่ให้พบปะผู้คน ในช่วงอายุ 3-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสุนัขชอบที่จะเล่นซุกซนที่สุด มักจะไม่สามารถปรับตนให้เข้ากับสังคมทั้งคน และสุนัขด้วยกันเองได้ ที่ร้ายที่สุด คือ เมื่อเติบโตขึ้น มันอาจจะมีอาการทางประสาท ไม่ชอบพบปะผู้คน จนเจ้าของยากที่จะควบคุมได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น ต้องระวังกันหน่อย
สำหรับสุนัขเต็มวัยก็ชื่นชอบการเล่นเช่นกัน การเล่นทำให้สุนัขได้ออกกำลังกายไปในตัว และช่วยลดความเครียดของสุนัข อย่าลืมว่า สุนัขนั้นเคยเป็นสัตว์ป่ามาก่อน เคยมีพฤติกรรมที่จะต้องออกล่าหาอาหาร ถ้าให้สุนัขจับเจ่าอยู่กับบ้าน อาจทำให้สุนัขเครียดได้ โดยสุนัขแต่ละพันธุ์มีการเล่นที่โปรดปรานแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับพฤติกรรมของบรรพบุรุษของแต่ละสายพันธุ์
จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องในวัยเด็ก อาจทำให้ลูกสุนัขพัฒนาเป็นสุนัขเต็มวัยที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยนไป เช่น เข้ากับสุนัขอื่นไม่ได้ แสดงอาการดุร้าย ฉุนเฉียว เมื่อเผชิญกับคนแปลกหน้า กัดเจ้าของ หรือแม้กระทั่งเป็นโรคกลัวเฉพาะอย่าง (Phobias) อาทิ กลัวเสียงดัง เสียงฟ้าผ่า เป็นต้น ถ้าสุนัขคุณมีอาการเช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ แต่ทางที่ดีป้องกันแต่เนิ่นๆ โดยการรักและเอาใจใส่สุนัข พยายามเข้าใจธรรมชาติของสุนัข ฝึกให้เชื่อฟังคำสั่ง แค่นี้คุณก็จะมีสุนัขที่น่ารักตลอดไป
ขอขอบคุณ ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ที่มาบทความจาก http://www.pstip.com/