hehe
18 มกราคม วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

18 มกราคม วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


  
           18 มกราคม วันกองทัพไทย และถือเป็นวันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วย มาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาไปด้วยกัน
 
             เราทุกคนต่างรู้จัก "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" เป็นอย่างดี ทั้งจากในหนังสือเรียน ละคร ภาพยนตร์ รวมถึงเรื่องเล่าต่าง ๆ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ว่าท่านทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถ และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทยอีกด้วย ดังนั้น วันที่ 18 มกราคมของทุกปี รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็นนกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักกับวันสำคัญนี้กันค่ะ

ความเป็นมาวันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

             ความเป็นมาวันกองทัพไทยนั้น เกิดขึ้นจากสงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว 

             แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย 
 
             ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น "วันกองทัพไทย" เรียกกันอีกอย่างว่า "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" หรือ "วันยุทธหัตถี" เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

             ทั้งนี้ แต่เดิมมีการะบุว่า วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชานั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน 
 
            การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองนั้น เนื่องจากเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันจะสามารถจำได้ง่ายมากกว่า และมีความเหมาะสมกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้ว พบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคมดังกล่าว ดังนั้น วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น "วันยุทธหัตถี" หรือ "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

 


พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

             สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์โตของพระสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี

            ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น พระองค์ได้ศึกษาวิชาความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ด้วยความหวังที่แรงกล้าว่าจะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ พระองค์จึงไม่อยากที่จะทำการใด ๆ ในระหว่างที่พระเจ้าบุเรงนองยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ แต่พอภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรก็ได้กลับมายังพระนครกรุงศรีอยุธยาบ้านเกิดอีกครั้ง และด้วยความสามารถที่เป็นเลิศทางด้านการศึกของพระองค์ โดยเฉพาะการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทำให้พระองค์สามารถกู้บ้านเมืองคืนมาได้อีกครั้ง จนเป็นที่น่าเกรงขามของข้าศึก

 


ความหมายของยุทธหัตถี

             ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์มาแต่โบราณกาล ถือเป็นความเชื่อมาแต่โบราณว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างนั้น เป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัว จะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับความเก่งกล้า ว่องไว รวมถึงความชำนาญในการขับขี่ช้าง ดังนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด หรือแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบที่แท้จริง นอกจากนี้ในสมัยอยุธยา มีการทำยุทธหัตถี รวม 3 ครั้ง คือ 


             - ครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ 

             - ครั้งที่สอง ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นส่งผลให้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องสิ้นพระชนม์ 

             - ครั้งที่สาม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล


บทบาทของกองทัพไทย

             เนื่องในวันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทยด้วยอีกหนึ่งวัน เราจึงควรทราบถึงบทบาทของกองทัพไทยซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศมากมาย ล้วนแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศชาติ ดังนี้

             - การป้องกันประเทศ

             กองทัพไทยได้จัดทำแผนการป้องกันประเทศไว้สำหรับรับสถานการณ์จากภัยคุกคามทุกด้าน และจัดให้มีการฝึกกองทัพไทยทุกปี รวมถึงมีการจัดเตรียมกำลังรบพร้อมปฏิบัติการตามแผนตั้งแต่ยามปกติและยามคับขัน รวมทั้งแก้ปัญหาผู้อพยพและผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง 

             - การรักษาความมั่นคงภายใน

             กองทัพไทยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงปฏิบัติการด้านการข่าวเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข่าวสารกับทางราชการ และปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน

             - การรักษาผลประโยชน์ของชาติ

             กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า รักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ช่วยแหลือผู้ประสบภัย และบรรเทาสาธารณภัย 

             - การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

             กองทัพไทยมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ 

             - การพัฒนาประเทศ

             การพัฒนาประเทศของกองทัพไทยนั้น คือการกำหนดแผนการปฏิบัติงานประจำปีของแต่ละหน่วย โดยใช้กำลังพลและงบประมาณของกองทัพในการดำเนินการ รวมถึงสนับสนุนภาครัฐและเอกชนตามโครงการพัฒนาประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ
 
วันกองทัพไทย

ภาพจาก Jukgrit Chaiwised



กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพไทย
 
             กิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทย คือ

             - พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่เรียกว่า "สวนสนามสาบานธง" ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหาร และเป็นการระลึกถึงวีรกรรม 

             - ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ

             - ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

             - จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย

             ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เกิดบนแผ่นดินไทย เราทุกคนจึงควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มั่นทำความดีและดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข และที่สำคัญที่สุดคือควรสามัคคี เพื่อที่เราจะได้อยู่กันอย่างสงบ และเพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้


ภาพจาก culture.go.th, วิกิพีเดีย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
culture.go.th